เสือแมลงภู่

เรียน คุณอาหมอทราบ

เสือแมลงภู่ หรือเสือแมงพู่ นั้น สะกดอย่างไรจึงจะถูก ในหนังสือ “สัตว์ป่าเมืองไทย” คุณอาไม่ได้กล่าวถึงสัตว์นี้ไว้เลย ผมอยากทราบว่าเป็นเสือชนิดไหน รูปร่างอย่างไร มีแถบไหน ดุไหม คุณอาเคยยิงได้บ้างไหม กรุณาเล่าเรื่องต่างๆ ของมันให้หลานฟังเป็นความรู้บ้าง

หนูน้อย นิยมไพร

หนูน้อย หลานรัก

คำว่า เสือแมลงภู่ นี้จะสะกดอย่างไรอาก็ไม่ทราบแน่ หาดูในพจนานุกรมก็ไม่พบ แต่อานึกว่าคงจะสะกด “เสือแมลงภู่” เช่นนี้เห็นจะถูกแน่ คือหมายความว่าสีของเสือนั้นเป็นสีดำอย่างกับปีกหรือตัวของ “แมลงภู่” ซึ่งเป็นสีดำ คงไม่ใช่ “เสือแมงพู่” หรือ “เสือแมลงพู่” แน่เพราะเสือไม่มีอะไรเป็นพู่ไม่ใช่เรือหงส์ที่จะทรงพู่ห้อย

คำว่าเสือแมลงภู่นี้ อาเข้าใจว่าเขาคงจะหมายความถึง “เสือโคร่งดำ” คงไม่ใช่หมายความถึง “เสือดาวดำ” แต่คนในบางป่าหรือบางเมือง อาจจะเรียกเลอะเลือนไป เรียกเอาเสือดาวดำเป็นเสือแมลงภู่ไปก็ได้

หลานถามว่า เสือแมลงภู่มีจริงไหม? คำถามนี้อาอึดอัดใจมาก เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเห็นเสือโคร่งสีดำเลยสักครั้ง มีแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าคนนี้เคยเห็นคนนั้นเคยพบ แต่อาไม่เคยเห็นใครสามารถเอาตัวหรือเอาหนังมาพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์กับตาจริงๆ ได้เลยสักครั้งเดียว เรื่องเสือแมลงภู่หรือเสือโคร่งดำนี้มีเสียงพูดกันบ่อยมาก ถ้าหากเขายืนยันว่ามีที่ไหน อามักจะตามไปดู และแทบทุกรายมันไม่ใช่เสือโคร่งดำ แต่เป็นเสือดาวดำต่างหาก

การติดตามไปดูเสือโคร่งดำครั้งที่อาเสียเงินแพงที่สุดก็คือ ครั้งไปดูที่นครย่างกุ้ง ครั้งนั้นอาพบกับผู้อำนวยการสวนสัตว์ที่ย่างกุ้ง อาถามเขาว่าที่ในสวนสัตว์ของเขามีอะไรบ้างที่น่าดู เขาคุยใหญ่ว่าเขามีอ้ายนั่นๆ และที่น่าสนใจที่สุดก็ตรงตอนที่เขาบอกว่า เขามี Black Tiger (เสือโคร่งดำ)

พอเขาบอกว่ามี แบล็ก ไทเกอร์ อาตาลุกเลย เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเห็น และกำลังสงสัยอยู่เต็มที่ว่ามันจะมีจริงหรือไม่หนอ อาก็ซักกับผู้อำนวยการสวนสัตว์นั่นว่า เป็น แบล็ก ไทเกอร์ แน่หรือ เป็นเสือโคร่งดำเสือใหญ่ดำจริงๆ หรือ แกก็ยืนยันว่าเป็นเสือโคร่งดำ อายังซักแกอีกว่า ไม่ใช่เสือดาว ไม่ใช่แบล็กแพนเทอร์แน่หรือ แกก็ยังยืนยันแน่นอนว่าไม่ใช่เสือดาวดำ

คำยืนยันอย่างมั่นคงของตาผู้อำนวยการนี่เองที่พาเอาอาต้องเหาะข้ามภูเขาสูงแห่งเทนเนสเซอริม_

ไป เพื่อดูของแปลกที่อาไม่เคยเห็นแต่พอไปเห็นเข้าจริงๆ อาแทบลมจับ อาฉิวจนไม่อยากจะพูดอะไรทั้งหมด เพราะเสือโคร่งดำของตาผู้อำนวยการนั่น ที่แท้มันก็เสือดาวดำที่เรามีอยู่เต็มเขาดินของเรานั่นเอง

เรื่องเสือแมลงภู่นี้ถ้าหากว่ามีจริง อานึกว่าเราน่าจะมีหนังเสือโคร่งดำจริงๆ ตากแห้งหรือฟอกไว้ดูกันบ้างแล้วอย่างน้อยก็สักผืนหนึ่ง แต่เราก็ไม่เคยได้พบได้เห็นกันเลยแม้แต่ผืนเดียว อาเคยมีจดหมายถามพวกเพื่อนๆ ตามพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศหลายแห่งว่าเคยมีเคยเห็นหนังเสือโคร่งดำกันบ้างไหม เขาก็บอกมาว่าไม่เคยเห็นมีหนังเสือโคร่งดำเลยสักแห่งเดียว

เรื่องเสือโคร่งดำนี้อาเคยสนใจมาก อาเคยลองนั่งค้นดูตำราและรายงานวิทยาศาสตร์ตั้งแต่โบรมโบราณดู ก็ปรากฏว่า ตั้งแต่ครั้งสร้างโลกมาแล้ว มีคนเคยยืนยันว่าเคยพบเสือโคร่งดำหรือเสือแมลงภู่นี้เพียง ๓-๔ ครั้งเท่านั้นเอง อาเคยโน้ตเรื่องราวของ ๓-๔ นั้นไว้เป็นพิเศษ ฉะนั้น อานึกว่าถ้าอาจะนำมาเล่าเสียเลยในที่นี้ หลานๆ ก็คงพอใจ

รายงานเสือโคร่งดำตัวแรก เป็นเรื่องที่ป่าทิพเพราในจิตตะกองตอนตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ครั้งแรกทีเดียวมีชาวบ้านป่าแถวนั้นเคยเล่าให้กันฟังบ่อยๆ ว่า มีเสือโครงดำใหญ่ท่องเที่ยวอยู่ในป่าแถบนั้นอยู่ตัวหนึ่ง แต่ไม่ใคร่มีใครสนใจกันนักเพราะนึกว่าเป็นเรื่องกุขึ้น ต่อมาก็มีรายงานมาอีกว่า มีชายผู้หนึ่งถูกเสือโคร่งดำกัดตาย แต่ก็ยังคงไม่มีใครสนใจกันอีก ยังคงนึกว่ามุขขึ้นอย่างเดิม ครั้นต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๔๖ (ร้อยกว่าปีมาแล้ว) ได้มีข่าวมาว่า มีผู้พบซากเสือดำตายที่หนทางไปตำบลทิพเพรา ห่างจากจิตตะกองไปราว ๒ ไมล์ นายซี. ที. บัคแลนด์ จึงได้ขี่ม้าไปดู เขาไปกับเพื่อนฝรั่งอีก ๓-๔ คน ในจำนวนนี้มีคนสำคัญที่น่าเชื่อถืออยู่คนหนึ่งชื่อว่า เซอร์ เอซ ริกเกตส์ เขาพบว่าซากเสือนี้ตายอยู่ในป่าละเมาะ เป็นเสือขนาดโตเต็มที่ หนังพื้นสีดำ ส่วนลายยาวๆ นั้นเป็นลายสีดำเข้มในพื้นสีดำอีกทีหนึ่ง ลายนี้เห็นชัดขึ้นเมื่อถูกกับแสงแดด เสือโคร่งดำตัวนี้ตายเพราะถูกจั่นห้าว (ธนูอาบยาพิษ) และหนีมาตายจากที่ที่ถูกยิงราว ๑ ไมล์ เขาว่าเขาไม่ได้ถลกหนังไว้ดูเป็นหลักฐาน เพราะเสือกำลังเน่าเสียแล้ว

รายงานเสือโคร่งดำตัวที่ ๒ ก็คือรายงานของนาย ที. เอ. แมกซ์เวล ซึ่งรายงานว่าได้ไปล่าสัตว์ที่ตำบลภาโมในอินเดีย วันหนึ่งเขาได้พบเสือดำตัวหนึ่งในระยะไกล เขาว่าตัวใหญ่มาก เขาดูโดยกล้องส่องทางไกล เห็นว่าคงไม่ใช่เสือดาวดำ เขาพยายามเข้าไปยิง แต่เสือนั้นรู้ตัวหลบหายไปเสียก่อน คงทิ้งแต่รอยให้เขาดูเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ เขาได้วัดดูรอบรอยเท้านั้นได้ ๑ ฟุต ๘ นิ้ว จึงทำให้เขาแน่ใจมากขึ้นว่าเสือที่เขาได้เห็นนั้นต้องเป็นเสือโคร่งดำอย่างที่เราชอบเรียกกันว่าเสือแมลงภู่แน่

รายงานเสือโคร่งดำตัวที่ ๓ คือรายงานของ เมเยอร์ สติวาร์ต และ ซี. เจ. มาลต์บี สองท่านนี้ก็รายงานมาว่าเขาได้ไปล่าสัตว์ในป่าแห่งทราวาลดอร์ และได้เห็นเสือโคร่งดำตัวหนึ่ง แต่ยิงไม่ได้

รายงานเสือโคร่งดำตัวที่ ๔ ได้รายงานไว้ในหนังสือ The Field ปี ค.ศ. ๑๙๒๘ ว่าได้มีผู้พบซากเสือโคร่งดำในเทือกเขาลูไชในแคว้นอัสสัม ในรายนี้ก็เช่นเดียวกับรายก่อนๆ ซากนั้นกำลังจะเน่าเปื่อย จึงไม่ได้เก็บหนังไว้เป็นหลักฐานพิสูจน์ต่อไปได้

นี่เป็นรายงานเรื่องเสือโคร่งดำที่พอฟังได้ นอกจากรายงานทั้งสี่รายนี้แล้ว ก็ไม่มีพูดถึงไว้ที่ไหนอีก ที่อาว่ารายงาน ๔ ฉบับนี้พอฟังได้ ก็เพราะผู้ที่รายงานนั้นเป็นผู้ที่พอเชื่อได้ แต่ทว่าเป็นที่น่าเสียดายว่าทั้งสี่รายนี้ไม่มีใครได้หลักฐานไว้พิสูจน์อย่างจริงจังเลย ในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกก็ยังไม่เคยมีที่ไหนมีหนังเสือโคร่งเลย ฉะนั้น อาจึงยังไม่ยอมสมัครปักใจลงไปว่า เรื่องเสือโคร่งดำหรือเสือแมลงภู่นี้จะมีจริง อาจะยอมเชื่อว่ามันมีจริงก็ต่อเมื่อมีผู้นำหนังของมันจริงๆ มาพิสูจน์ให้เห็นจริงจังได้เท่านั้น

คำว่า “เสือแมลงภู่” นี้ อาได้บอกไว้แล้วว่า ควรจะหมายความถึงเสือโคร่งดำ แต่ชาวบ้านของเราไม่เคยมีใครพบ ส่วนมากจึงไปเรียกเอาเสือดาวดำหรือเสือดำว่าเป็นเสือแมลงภู่ไปเลย ฉะนั้น เมื่อชาวบ้านพูดถึงเรื่องเสือแมลงภู่ เราจะต้องซักแล้วซักอีกว่าเขาหมายถึงอะไรกันแน่ และถ้าเขาบอกว่าเขาเห็นเสือโคร่งดำในป่าแล้ว ก็ขอให้เข้าใจไว้เสียก่อนเถิดว่า ถ้าไม่มุข ก็คงตาฝาด เพราะธรรมชาติในป่านั้น โดยมากเราเห็นสัตว์อะไรในป่าตัวมักจะโตหรือสูงใหญ่กว่าความจริงมาก ทั้งนี้เพราะตาฝาดและความกลัว ช้างป่าที่เราเห็นๆ อยู่ในป่านั้น เรามักจะคะเนว่าสูงตั้ง ๑๔-๑๕ ฟุตบ่อยๆ พอยิงตายแล้วลดลงเหลือสูงเพียง ๘-๙ ฟุตเท่านั้นเอง

เสือแมลงภู่นี้ อายังไม่เคยเห็น อาจึงไม่ขอยืนยันว่าจะมีจริงหรือไม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะมีได้ การที่สีมันเปลี่ยนเป็นดำไปนั้น เนื่องจากความพิการของอวัยวะที่ทำสีในร่างกาย ความพิการหรือโรคอย่างนี้เราเรียกกันว่า melanism คือมันทำสีเมลานินมากเกินไป ถ้าหากมันเกิดเป็นโรคไม่ทำสีเมลานินเสียเลย เราก็เรียกว่าเผือก หรือ Albino เสือโคร่งเผือกนั้นพบกันบ่อยมาก แต่เสือโคร่งดำนั้นยังไม่เคยได้ตัวจริงๆ หรือได้หนังจริงๆ เลยได้แต่รายงาน ๓-๔ ฉบับดังเล่ามาให้ฟังแล้วเท่านั้นเอง

พูดสำหรับเมืองไทย เสือแมลงภู่นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะมีได้ เพราะสัตว์ป่าหลายอย่าง ยิ่งลงไปทางทิศใต้ สีมักจะเปลี่ยนเป็นดำเข้มขึ้น เสือดาวดำก็มีชุมลงไปทางปักษ์ใต้ วัวแดงทางภาคอื่นๆ ตัวสีแดง พอลงไปปักษ์ใต้ก็เป็นวัวแดงสีดำ กระทิงทางพม่าตัวสีติดจะแดงๆ พอลงมาถึงเมืองไทยและปักษ์ใต้ก็เป็นสีดำเข้มขึ้น กระรอกบินสีดำปี๋ก็พบกันทางปักษ์ใต้ คนเราก็เหมือนกัน สาวๆ ทางเชียงใหม่เขาขาวจั๊วะ แต่ทางปักษ์ใต้โน่นผิวดำมืด ขึ้นเวทีนางงามแล้วเป็นรองเขาเรื่อยๆ ฉะนั้น เรื่องเสือโคร่งดำหรือเสือแมลงภู่ก็น่าจะพบกันบ้างทางปักษ์ใต้ หากใครมีหนังเสือโคร่งดำก็โปรดได้ส่งหนังนั้นไปให้ผมดูด้วย จะได้เป็นประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

Leave a comment