นิยมไพรสมาคม

กำเนิด “นิยมไพรสมาคม”
เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ นายแพทย์บุญส่งจึงได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “นิยมไพรสมาคม” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495 โดยได้ชักชวนผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่นับถือในสังคม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการป่าไม้ การเกษตร แลเพื่อนๆ ของท่านที่เคยร่วมในการล่าสัตว์ป่าแบบเกมกีฬาสมัยก่อนและผู้สนใจมาร่วมเป็นกรรมการ โดยได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2496

วัตถุประสงค์ของนิยมไพรสมาคม
ก็คือ
เพื่อปลูกฝังนิสัยรักธรรมชาติแก่ประชาชน ตลอดจนยุวชน
เพื่อศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พฤกษชาติ และสัตว์ป่านานาชนิด
เพื่อส่งเสริมการคุ้มครอง และแพร่พันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นประโยชน์
เพื่อส่งเสริมการปลูกบำรุงพันธุ์พฤกษชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
เพื่อนำและส่งเสริมการเที่ยวป่า
เพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งโบราณสถานและปูชนียสถาน ตลอดจนสถานที่ที่มีวิวทิวทัศน์อันสวยงาม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

คณะกรรมการของนิยมไพรสมาคมชุดแรก ประกอบด้วยกรรมการ 14 ท่าน โดยมี พระอินทร์สรศัลย์เป็นนายกสมาคมคนแรก นายแพทย์บุญส่งทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งต่อมา นายแพทย์บุญส่งก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฯ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานของสมาคมฯ มาโดยตลอด

คณะกรรมการนิยมไพรสมาคมเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี
ณ วังสระประทุม 7 เมษายน 2508

หมอบุญส่งกับกลุ่มนิยมไพรสมาคม

สิ่งที่สมาคมจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ สำนักงานของนิยมไพรสมาคม ซึ่งก็ได้ใช้สถานที่ที่บ้านของนายแพทย์บุญส่ง คือ บ้านเลขที่ 4 ตรอกโรงภาษีเก่า บางรัก (จังหวัดพระนคร) ตลอดมา โดยเฉพาะห้องโถงซึ่งใช้เป็นที่ทำการและศูนย์กลางการดำเนินงานของสมาคมฯ และเป็นสถานที่ทำงานของนายแพทย์บุญส่งเองด้วย ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจและประทับใจแก่ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนหรือไปประชุมเสมอมา กล่าวคือ นอกจากด้านหนึ่งจะเป็นโต๊ะตู้ทำงานของนายแพทย์บุญส่งแล้ว ยังเป็นทั้งห้องพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด ที่ฝาผนังของห้องโถงนี้ประดับไปด้วยเขาสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ตลอดจนรูปสัตว์ป่า ตามชายผนังรอบห้องก็เป็นตู้เก็บตัวอย่างนกและสัตว์สตัฟฟ์ขนาดเล็ก มีชั้นและตู้เก็บหนังสือที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า ธรรมชาติและการอนุรักษ์มากมาย รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการสตัฟฟ์สัตว์ อุปกรณ์ในการถ่ายรูปของนายแพทย์บุญส่ง ซึ่งตัวท่านเองก็เป็นผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมในการถ่ายรูปนก รูปสัตว์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นที่ประชุมกรรมการ ที่บรรยาย ตลอดจนรับแขกทั้งจากในและต่างประเทศตลอดมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี จนกระทั่งท่านล้มป่วยลง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันเก็บรักษาห้องดังกล่าวไว้เป็นอนุสรณ์ของนายแพทย์บุญส่งตลอดไป ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสได้ทราบถึงผลงานของนายแพทย์บุญส่ง และกำเนิดของการอนุรักษ์ของประเทศไทย

Leave a comment